Home » , , , » ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ เดือนอ้าย(เดือนเจียง) บุญเข้ากรรม

ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ เดือนอ้าย(เดือนเจียง) บุญเข้ากรรม

Written By SongStoryz on วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555 | 02:04


เดือนอ้ายหรือเดือนหนึ่ง หรือบางทีอาจจะเรียกว่าเดือนเจียงก็ได้มีประเพณีการทำบุญประจำเดือน คือ "บุญเข้ากรรม" การเข้ากรรม คือ การอยู่ปริวาสกรรมของภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เรียกว่า“เข้าปริวาสกรรม" โดยให้พระภิกษุผู้ต้องอาบัติ(กระทำผิด) ได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เพื่อเป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตนเอง และมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระวินัย พิธีเข้าปริวาสกรรมจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ โดยกำหนดไว้ ๙ ราตรี พระภิกษุสงฆ์ที่ต้อง การเข้าปริวาสกรรมต้องไปพักอยู่ในสถานที่สงบ ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน

การเข้าประวาสกรรม ในวินัยสงฆ์ บัญญัติไว้ว่า “ภิกษุใดต้องอาบัติสังฆาทิเสส ซึ่งมี ๑๓ ข้อ เช่น จับต้องกายหญิงด้วยความกำหนัด เป็นต้น จะพ้นจากอาบัติได้ต้องอยู่ปริวาสกรรมหรืออยู่กรรมเพื่อเป็นการลงโทษตัวเอง โดยมีภิกษุอื่นรับรู้ด้วยไม่น้อยกว่า๒๐ รูป” เมื่ออยู่ปริวาสและออกจากปริวาสเรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นผู้มีศีลที่บริสุทธิ์ เป็นภิกขุภาวะที่สมบูรณ์แบบ การอยู่ปริวาสนี้ไม่ใช่เรื่องของการล้างบาป แต่จะถือว่าเป็นการปวารณาตนว่าจะไม่กระทำผิดอีก

การเข้าปริวาสกรรม เป็นการสำรวม กาย วาจา ใจ ไม่ให้กระทำผิดอีกต่อไป มีการนั่งสมาธิเดินจงกรม สวดมนต์ภาวนา ใช้เวลามากกว่าปกติ บางทีมีการอดข้าว อดน้ำถึง ๒-๓ วันก็มี หรือบางทีก็ถูกอาจารย์กรรมฝึกหนัก ทั้งนี้ก็เพื่อให้รู้และเข้าใจความยากลำบากของคำว่า กรรม หรืออยู่กรรม ที่แม่ได้อยู่ไฟหรือว่าอยู่กรรมนั้นมี ความยากลำบากเพียงไร เพราะฉะนั้น คนในสมัยก่อนๆ จึงมีความตระหนักและเข้าใจในบุญคุณของพ่อแม่ ไม่มีข่าวปรากฏให้ได้ยินเห็นว่าลูกฆ่าพ่อ ตีแม่ ลูกอกตัญญ แต่กลับเทิดทูนพ่อแม่ในฐานะปูชนียบุคคลในระดับครอบครัวอย่างแท้จริง

ในกิจกรรมของพระในการนี้ พุทธศาสนิกชนผู้หวังบุญกุศลก็ร่วมกันดูแลอุปัฎฐาก รักษาพระเจ้าพระสงฆ์ที่เข้าอยู่กรรมบริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม เกี่ยวกับการเข้าอยู่ปริวาสกรรมของพระภิกษุ เรียกว่า"บุญเข้ากรรม" ส่วนกำหนดการทำบุญดังกล่าวได้กำหนดเอาเดือนอ้าย จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า"บุญเดือนอ้าย"

ส่วนกิจของชาวพุทธศาสนิกชนในบุญเข้ากรรมนี้ คือการหาข้าวของเครื่องอุปโภคบริโภถวายพระ ซึ่งถือว่าจะได้บุญมากกว่าการทำบุญตักบาตรทั่วไป

สำหรับมูลเหตุแห่งชำระศีลให้บริสุทธิ์นี้ มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า ในสมัยพระกัสสปะพระพุทธเจ้า ได้มีภิกษุรูปหนึ่งพายเรือข้ามแม่น้ำแห่งหนึ่ง ในระหว่างนั้นแม่น้ำมีกระแสที่ไหลเชี่ยว ท่านได้เอามือจับใบตะใคร้น้ำ เมื่อเรือถูกน้ำพัดไปทำให้ใบตะใคร้น้ำขาด ทานคิดว่าเป็นเรื่องที่มีโทษเล็กน้อย เวลาใกล้ตายคิดอยากแสดงอาบัติ แต่หาภิกษุที่จะรับไม่มี แม้ว่าท่านจะบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่านานถึง ๒๐,๐๐๐ ปีก็ตาม ก็ไม่อาจที่จะบรรลุธรรมชั้นสูงได้ เวลาตายไปแล้วได้ ไปเกิดเป็นพญานาค ชื่อเอรกปัต หรือแปลว่า นาคใบตะใคร้น้ำ คงจะเป็นเพราะเหตุนี้นักปราชญ์โบราณอีสานจึงได้จัดการเข้ากรรมไว้ให้เป็นประเพณีสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้.


ขอบคุณ ข้อมูล และ รูปภาพจาก
 
Share this article :

แสดงความคิดเห็น

 
Support : Creating Website | Johny Template | Mas Template
Copyright © 2012 - 3012. GuidePhibun ไกด์ พิบูลมังสาหาร - All Rights Reserved
Template Created by Creating Website Published by Mas Template
Proudly powered by Blogger