Home » , , , » ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ บุญซำฮะ บุญเดือนเจ็ด

ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ บุญซำฮะ บุญเดือนเจ็ด

Written By SongStoryz on วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555 | 02:54



คำว่า “ซำฮะ” เป็นภาษาไทยอีสานตรงกับคำไทยภาคกลางว่า “ชำระ” ซึ่งในพจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ชำระ ก. ชะล้างให้สะอาด เช่นชำระร่างกาย สะสาง ปรับปรุงให้ดีขึ้น เช่น ชำระพระไตรปิฎกพิจารณาตัดสิน เช่น ชำระความ ใช้ในคำว่า ชำระหนี้”

ความหมายของคำว่า ซำฮะ ซึ่งเป็นภาษาไทยอีสานก็มีความหมายเช่นเดียวกันกับในคำว่า ชำระของพจนานุกรมไทย เช่นในหนังสือพจนานุกรมภาษาถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ให้ความหมายไว้ว่า “ซำฮะ ก. ชำระ สะสาง ทำให้ดี เช่น อาบน้ำชำระกาย ,พิจารณาตัดสินให้, เช่น ชำระความ , ปัดรังควาน เช่นสูตรชำฮะ เป็นต้น”

บุญซำฮะจึงอาจสรุปความหมายได้ว่า คือบุญที่จัดทำขึ้นเพื่อทำพิธีปัดรังควาน ขับไล่ความเสนียดจัญไรภูตผีปีศาจออกจากหมู่บ้าน บางแห่งเรียกว่า “บุญเบิกฟ้า” บางแห่งเรียกว่า “บุญบ้าน” เฉย ๆ บางบ้านที่เป็นหมู่บ้านใหญ่อาจแบ่งกันทำเป็นคุ้มไป จึงเรียกว่า “บุญคุ้ม” ก็มี แม้จะเรียกต่างกัน แต่ก็มีจุดประสงค์เดียวกัน คือขับไล่สิ่งไม่ดีออกจากหมู่บ้านนั่นเอง

สำหรับความสำคัญของบุญนี้นั้นชาวอีสานถือว่าสำคัญมากจะเรียกว่ามากกว่าฮีตอื่น ๆ ก็ว่าได้ เพราะฮีตหรือบุญนี้แต่ละหมู่บ้านจะทำกันมิได้ขาด ถือว่าเป็นบุญที่เกี่ยวกับภูตผีปีศาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีประจำหมู่บ้าน มีผีปู่ตาผีตาแฮก มเหศักดิ์หลักเมือง ที่คอยคุ้มครองหมู่บ้านเป็นต้น บุญนี้จะเลี้ยงทั้งหมดที่กล่าวมาซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นผีที่ใกล้ตัวมาก เพราะเป็นที่รวมของผีอาฮักหรืออารักษ์ที่ผีบรรพบุรุษรวมอยู่ด้วยบรรดาผีดังกล่าวจะช่วยดลบันดาลให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข

การชำระล้างสิ่งที่สกปรกให้สะอาดภาษาอีสานเรียกว่า ซำฮะ หรือ ชำระความสกปรก ที่ควรใส่ใจชำระให้สะอาดนั้นมี 2 ส่วน คือ ความสกปรกภายนอก หมายถึง ร่างกาย เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัย เป็นต้น ที่สกปรกต้องชำระล้างด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนความ สกปรกภายใน หมายถึง จิตใจที่มีความเศร้าหมองเพราะอกุศลมูล คือ โลภ โกรธ หลง จนต้องมีการชำระล้างด้วยหลักธรรมทางศาสนา คือการให้ทานรักษาศีลและเจริญเมตตาภาวนา อันเป็นการบำเพ็ญหรือบุญกริยาวัตถุนั่นเอง


การทำบุญถวายทาน รักษาศีล ฟังเพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์และเทศน์ชำระและถวายไทยทาน และปล่อยสัตว์ในพิธี รวมทั้งส่งสิ่งไม่ดีออกไปแล้ว เรียกว่า บุญซำฮะ เพราะมีกำหนดทำกัน ในเดือน 7 จึงได้ชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าบุญเดือนเจ็ด นักปราชญ์โบราณอีสานได้กล่าวไว้เป็นบทผญา หรืออีสานภาษิตไว้ว่า
เดือนเจ็ดเผาความฮ้ายอันตรายบ่มาผ่านนิมนต์พระขึ้นบ้านเล็งเป้าเข้าใส่ธรรมบุญสิมาซ้อยค้ำชูส่งราศรี
บารมีผลทานสิไล่มารให้เลยพ้นตั้งแต่ดนเฮาได้เคยยินมาตั้งแต่ก่อนบุญซำฮะสละความเดือดฮ้อนเมืองบ้านสิฮ่มเย็น


นักปราชญ์ทางศาสนาท่านสอนว่า ผีปีศาจ คือความชั่ว ความไม่ดีที่มีอยู่ในตัวเรานั่นเอง ไม่ใช้ผีหลอก ผีเป้า ผีพรายอะไรที่ไหนเลย การไล่ผีควรไล่ผีในจิตใจเราดีกว่า ผีที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ อวิชชา หรือความโง่เขลา ความไม่รู้ในจิตใจเรานั่นเอง หากเราไม่รู้แล้วผีย่อมหลอกได้ง่ายคนที่มีความรู้ มีวิชา คือคนที่มีเหตุมีผล สามารถแยกแยะดีชั่วถูกผิดได้ดีและจะเข้าใจได้ว่า ผีคืออะไร อยู่ที่ไหน มีจริงตามที่เราเข้าใจหรือไม่ วงสายสิญจน์คือศีลธรรมความดีนั้นเอง

ในระหว่างเดือนเจ็ด นอกจากทำบุญซำฮะแล้ว บางแห่งประชาชนทำพิธีบวงสรวง "ผีอาฮักษ์" ประจำ
เมืองและ "ผีปู่ตา" ประจำหมู่บ้านตลอด "ผีตาแฮก" ตามทุ่งนา ก่อนลงมือทำนาด้วย เพื่อให้ประชาชน
ในเมืองและในหมู่บ้านนั้น ๆอยู่เย็นเป็นสุข และทำไร่ทำนาได้ผลดี ดังกล่าวมูลเหตุที่ปรากฏเป็นหลักฐานในตำราทางศาสนาเกี่ยวกับการทำบุญซำฮะนี้ มีเรื่องเล่าไว้ในขุททกนิกาย ธรรมบท เรื่องอัตโนบุพกรรมว่า ในสมัยหนึ่งเมืองไพสาลี ได้เกิดเดือดร้อน เพราะฝนแล้ง ฟ้าฝนไม่ตกต้อง
ตามฤดูกาล เกิดข้าวยากหมากแพง (ทุพภิกขภัย) และเกิดโรคร้ายระบาดรุนแรง ทำให้สัตว์ มีช้าง ม้า วัว
และควาย เป็นต้น และผู้คนล้มตายเป็นอันมาก ทั่วทั้งเมืองเต็มไปด้วยซากศพและขาวโพลนไปด้วยกอง
กระดูก เจ้าผู้ครองเมืองจึงได้ส่งคนไปกราบนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์จำนวน 500 รูป
เสด็จมายังเมืองไพสาลีโดยทางเรือ เพื่อขจัดปัดเป่าหรือชำระเสนียดจรัญไรที่เกิดขึ้นและ บำรุงขวัญ
ประชาชนพสกนิกรของตน

ครั้นพอเมื่อ พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าถึงเขตเมืองไพสาลีก็เกิดฝนตกห่าใหญ่ ภายในเมืองเกิดน้ำท่วมสูงระดับหัวเข่าจนถึงเอว น้ำที่ท่วมนั้นกลายเป็นผลดีแก่ชาวไพสาลี โดยน้ำได้พัดพาเอาซากศพของคนและสัตว์เหล่านั้นลงสู่แม่น้ำแล้ว ไหลออกสู่ทะเลในที่สุด ซึ่งเชื่อว่าเป็นการชำระเมืองให้สะอาดก่อนที่จะมีการเสด็จมาถึงของพระพุทธเจ้า อันเป็น การถวายการต้อนรับโดยเทวดาผู้รักษาเมือง

ในครั้งนั้น พระพุทธเจ้าได้ทำน้ำพุทธมรต์ด้วยรัตนสูตรใส่ในบาตรแล้วรับสั่งให้พระอานนท์นำไปประพรมจนทั่ว พระนครโรคภัยไข้เจ็บและเสนียดจัญไรทั้งหลายทั้งปวงก็ระงับดับหายไป ชาวอีสานในสมัยโบราณได้อาศัยความเชื่อนี้ ครั้นเมื่อถึงเดือน 7 ของทุกปีจึงได้พากัน ทำบุญ ชำระบ้านเมืองเป็นประจำสืบมา


เครื่องพิธีหรือเครื่องประกอบพิธีได้แก่ กองหิน กองทราย ต้นกล้วย ไหน้ำมนต์ พานบายศรี สายสิญจน์ ข้าวตอก ดอกไม้ เมี่ยง หมาก พลูจำนวนนับร้อย ข้าวดำ ข้าวแดง แกงส้ม และแกงหวาน ธูป เทียน น้ำมันหนักหมื่น ตุ๊กตาช้าง ม้า ข้าหญิง ข้าชาย เป็นต้น รวมทั้งสัตว์ที่จะปล่อยมี นก ปลา ปู หอย และเต่า

สำหรับกรวดทรายหรือหินลูกรังพระหรือพ่อกะจ้ำจะนำไปหว่านโปรยรอบ ๆ หมู่บ้าน บางแห่งจะหว่านขึ้นบนหลังคาบ้านก็มี ทางเข้าหมู่บ้านเพราะเชื่อกันว่าผีหรือสิ่งจัญไรจะเข้ามาทางประตูสู่บ้านจึงต้องนำหินทรายไปกันไว้ก่อน บางแห่งจะใช้ด้ายสายสิญจน์หรือไม่ก็หญ้าคาไปผูกขึงไว้ที่ทางจะเข้าหมู่บ้าน หากสังเกตให้ดีในช่วงเดือนเจ็ดตามทางเข้าหมู่บ้านจะเห็นด้ายสายสิญจน์หรือไม่ก็หญ้าคาที่ผูกต่อกันยาว ๆ ถูกผูกขึงข้ามถนนให้เห็นชัดเจน เวลาผีจะเข้าหมู่บ้านจะได้เกรงกลัวไม่กล้าเข้า

เมื่อได้จัดสถานที่เตรียมความพร้อมแล้ว เมื่อถึงวันอันเป็นที่นัดหมายในช่วงเช้าพระสงฆ์ 4 รูปสวดทักทิศทั้งสี่ ของเมืองที่สมมติขึ้น คือบูรพา (ทิศตะวันออก) ทักษิณ (ทิศใต้) ปัจฉิม (ทิศตะวันตก และอุดร (ทศเหนือ) เพราะถือตามคตินิยมทางพระพุทธศาสนา ที่เชื่อว่าโลกนี้ในแต่ละทิศจะมีเทพยดารักษาเรียกว่า ท้าวจตุโลกบาลซึ่งมีบทบาทปรากฏเป็นหลักฐานในหนังสือปฐมสมโภชน์และคัมภีร์พุทธวงศ์ รวมทั้ง
มหาปรินิพพานสูตรโดยสรุปว่า เมื่อคราวที่เจ้าชายสิทธัตถะออกผนวชแล้วท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ได้ นำบาตรมาถวาย และพระองค์ได้ทรงอธิษฐานจิตให้บาตรที่ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่นำมาถวายนั้น รวมกันเข้าเป็นใบเดียว


ครั้งพอถึงเวลาบ่ายแดดร่มลมตกประชาชนผู้เข้าร่วมพิธีแต่งกายชุดขาวพร้อมนำเทียนสีผึ้งสำหรับ ทำน้ำพุทธมนต์ คนละ 3 เล่ม โดยวัดรอบศรีษะ 1 เล่ม วัดจากตีนผมถึงสะดือ 1 เล่ม และวัดตามแนว ยาวของข้อศอกของแต่ละคนอีก 1 เล่ม พร้อมเงินร่วมทำบุญคนละ4 ตำลึง (16 บาท) ไปรวมกัน ณ จุดนัดหมายเมื่อพร้อมแล้วพราณาจารย์นำประธานในพิธีโดยมีการสมมติเอาบุคคลสำคัญในท้องถิ่น
เป็นตำแหน่งทางปกครองในสมัยก่อน เช่น เจ้าเมือง อุปฮาต ราชวงศ์ เป็นต้น พร้อมผู้เข้าร่วมพิธีสักการะ บวงสรวงอัญเชิญเทวดามารับเคร่องสังเวยที่จัดเตรียมเอาไว้เมื่อเสร็จแล้วจึงเริ่มประกอบ พิธีไหว้พระ สมาทานศีล อาราธนาพระปริตมงคล และพระสงฆ์ เจริญพุทธมนต์แบบโบราณจบแล้ว มีการเทศน์ชำระ โดยพระสงฆ์ 5 รูปเทศน์ทำนองอีสานใช้หนังสือผูกคัมภีร์โบราณ 5 พระสูตรพร้อมกัน
คือ ขึ้นนะโม พร้อมกัน และเมื่อจบก็จบ เอวํ พร้อมกัน ซึ่งแต่ละสูตรที่นำมาเทศน์ในประเพณีบุญชำระนั้น ล้วนแต่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสืบชะตาต่ออายุและขับเสนียดจัญไร คือ ปัญญาปาระมี อุณหิสสะวิชัย ทิพพมนต์ อาการวัตตสูตร และฉวิชชารสูตร จบแล้วถวายไทยธรรมพระสงฆ์อนุโมทนาประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ผู้เข้าร่วมพิธีและนิมนต์ พระสงฆ์อีก 4 รูปประพรมน้ำพระพุทธมนต์ไปยังทิศทั้ง 4 ของเมืองที่กำหนดสมมติเอาไว้ เพื่อขับส่งเสนียดจัญไร ออกจากเมืองตามคตินิยมที่เคยถือปฏิบัติกันสืบมา เป็นอันเสร็จพิธี




เดือนเจ็ด บุญซำฮะเลี้ยงมเหศักดิ์หลักเมือง

สาเหตุอีกประการหนึ่งของการทำบุญซำฮะมีเรื่องราวมาดังนี้

แต่ครั้งปางก่อน มีพระยาองค์หนึ่งนามว่า พาละราชเสวยราช สมบัติอยู่เมืองจักพรรดินคร พระยาพาละราชมีลูกสาวอยู่นางหนึ่งชื่อว่านางประพาพาล ต่อมาเกิดน้ำท่วมเมือง พระยาพาละราช จึงเอาลูกสาวขึ้นเรือแล้วเอาเชือกนับร้อยล่ามเรือไว้ พอน้ำท่วมเรือของนางก็ลอยขึ้นตามน้ำผลที่สุดเชือกเลยขาด แล้วเรือก็ลอยไปค้างอยู่ฝั่งใกล้ป่าใหญ่อันเป็นประเทศของพวกผีปีศาจ ( ผี ) เวลานั้นมีพระยาปีศาจตนหนึ่ง
ชื่อกัลละปรไล ไปปลูกหอ( เรือน ) ให้นางอยู่ในป่าตรงนั้นเองต่อมาพระยาองค์หนึ่งชื่อพิษณุราชอยู่เมืองตรีนครออกไปเที่ยวหายิงเนื้อได้ไปเห็นนางประพาพาลอยู่ในหอแต่ผู้เดียว ก็เลยรับเอาไปเป็นเมีย ฝ่ายพระยาปีศาจกัลละปรไลกลับมาไม่เห็นนางได้รู้ว่าพระยาพิษณุราชลักเอาไป จึงได้เกณฑ์กองทัพผีไปรบกับเมืองตรีนคร พระยาปีศาจบอกให้แม่ทัพผี ๔ นายไปบันดลให้คนเมืองตรีนครมีอาการเป็นต่าง ๆ คือ

๑ ทัพหนึ่งไปทำให้แม่มาน ( ท้อง ) ออกลูกตาย
๒ ทัพหนึ่งไปหลอกหลอนให้คนเห็นอาการประหลาดต่าง ๆ
๓ ทัพหนึ่งไปทำให้คนเป็นโรค ปวดท้อง เจ็บตาเป็นไข้
๔ ทัพหนึ่งไปทำให้วัว ควายเกิดโรคล้มตายลง

ในคราวนั้นพระฤๅษีตนหนึ่งชื่อ มหาโคดมมีความสงสารประชาชนพลเมือง จึงเข้าบอกพระยาพิษณุราชว่า พระองค์ไปลักเมียของผีมาดังนั้นผีมันจึงตามมาก่อกวนบ้านเมืองให้เดือดร้อน พระองค์รีบจัดการเลี้ยงผีอารักษ์หลักเมืองให้ช่วยป้องกันจึงจะพ้นภัย พระยาพิษณุราชไม่เชื่อแต่ก็ไม่ขัดขวาง ยอมให้พระฤๅษีจัดการป้องกันเมือง พระฤๅษีจึงไปหาเสนาบดีคนหนึ่งซื่อสัตย์สุจริต มาเป็นผู้จัดการโดยปลูกศาล-
เทพารักษ์ ( หอผี ) ขึ้นกลางเมือง ให้เสนาบดีอีกคนหนึ่งเอายันต์ไปติดไว้ตามประตูเมืองและนอกเมือง แล้วจึงจัดการเลี้ยงผีอารักษ์เหล่านั้นด้วยข้าวปลาอาหาร และเหล้ายาทุกหนทุกแห่ง ส่วนพระฤๅษีเสกเป่าคาถาลงใส่ทรายและหินแห่หว่านไปรอบ ๆ ในคราวนั้นแม่ทัพผีทั้ง ๔ก็ยกพลมาก็เข้าเมืองไม่ได้ฝ่ายพวกผีเมืองได้รับเครื่องเซ่นสรวงบูชาแล้วก็ดีใจ จึงชวนกันออกไปต่อสู้จนจับแม่ทัพผีทั้ง ๔ นายได้ ฝ่าย-
พระยาปีสาจกัลละปรไล ได้ทราบข่าวนั้นก็ยิ่งพิโรธโกรธกล้า แล้วก็ยกพลมาอีกแต่ถูกพวกผีอารักษ์ หลักเมืองจับได้อีกแล้วนำตัวมาถวายพระยาพิษณุราช พระยาพิษณุราชมรใจเมตตาไม่ให้ฆ่าแต่ให้สาบานแล้วปล่อยไป แต่นั้นมาบ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุขเพราะมีอารักษ์หลักเมืองช่วยป้องกัน

ต่อมาพระยาพาละราชบิดาของนางประพาพาล ได้ทราบข่าวว่าพระยาพิษณุราชได้ลูกสาวของตนไป แต่ไม่มาบอกเล่าจึงโกรธยกกองทัพไปตีเมืองตรีนครของพระยาพิษณุราช พระยาพิษณุราชทราบข่าวว่าข้าศึกมาล้อมเมือง จึงจัดการเลี้ยงผีขอให้ช่วยป้องกันเมือง พวกผีอารักษ์หลักมืองจึงไปทำให้กองทัพของพระยาพาละราชเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยไพร่พลช้างม้าล้มตายลงเป็นอันมาก จนพระยาพาละราชจำต้องยอมผูกมิตรไมตรีกับพระยาพิษณุราช แต่นั้นมานครทั้งสองก็อยู่เย็นเป็นสุข

ตามเรื่องที่เล่ามานี้แสดงให้เห็นว่า การเลี้ยงผีบ้าน ผีเมืองนั้นก็เพื่อให้ผีช่วยป้องกันตามบ้านเมือง ป้องกันการเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยแต่อดีตมาจะต้องทำบุญขึ้นในหมู่บ้านเพื่อชำระให้สะอาดปราศจากสิ่งเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวง ให้หมู่บ้านมีความสุขสบายในปีนั้น ๆ





ขอบคุณ ข้อมูล และ รูปภาพจาก
 
Share this article :

แสดงความคิดเห็น

 
Support : Creating Website | Johny Template | Mas Template
Copyright © 2012 - 3012. GuidePhibun ไกด์ พิบูลมังสาหาร - All Rights Reserved
Template Created by Creating Website Published by Mas Template
Proudly powered by Blogger