Home » , , , » ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ บุญออกพรรษา บุญเดือนสิบเอ็ด

ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ บุญออกพรรษา บุญเดือนสิบเอ็ด

Written By SongStoryz on วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555 | 03:10



“ พรรษา ” หมายถึง ฤดูฝน ปีหนึ่งมี ๔ เดือน คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ในระยะ ๓ เดือนต้น ให้เข้าพรรษา แล้วขยายออกไปอีก ๑ เดือน ให้หาผ้าจีวรมาผลัดเปลี่ยนบุญออกพรรษานี้ เพราะทำกันในวันเพ็ญกลางเดือนสิบเอ็ด บางทีเรียกว่า “ บุญเดือนสิบเอ็ด ”

ในวันทำบุญออกพรรษานี้ จะมีการทำบุญจุดประทีป จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญไต้ประทีปการใต้ประทีปหรือจุดประทีปนี้ มีความเป็นมาว่า การจุดธูปเทียนเป็นพุทธบูชาได้บุญกุศล

การถวายต้นดอกเผิ้ง ( ดอกผึ้ง ) ทำเป็นดอกหรือทำเป็นแผ่น เป็นต้นดอกผึ้ง เรียกว่า หอปราสาทเผิ้ง( หอปราสาทผึ้ง )

การลอยกระทง การลอยกระทงทำเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท เพื่อบูชาพระแม่คงคา และพระแม่โพสพ

ส่วนภาคอีสานลอยกระทงพร้อมปล่อยเรือไฟ หรือไหลเรือไฟ

ซ่วงเฮือ ( แข่งเรือ ) คือการนำเรือมาแข่งกัน วัดใดใกล้แม่น้ำหรือแหล่งน้ำใหญ่มักจะมีการแข่งเรือ



ตักบาตรเทโว
ในวันนี้ในตอนเช้าชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรหรือตักบาตรเทโว และจัดอาหารคาวหวานไปถวายแด่พระภิกษุสามเณร บางวัดก็มีการกวนข้าวทิพย์ถวาย มีการรับศีลสวดมนต์ทำวัตรเข้า ฟังเทศน์ และผู้มีจิตศรัทธาที่จะถวายผ้าจำพรรษา ก็นำไปถวายแด่พระภิกษุตอนนี้ด้วย (ผ้าจำนำพรรษา คือ ผ้าที่ภิกษุจะได้รับเมื่อจำพรรษาแล้ว มีเวลาที่จะถวายและรับได้ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือนสิบเอ็ดถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือนสี่ แต่ที่นิยมทำกันมีถวายผ้าดังกล่าวในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด) ในวันขึ้น 15 ค่ำ


เดือนสิบเอ็ดนี้พระสงฆ์จะรวมกันทำพิธีออกวัสสาปวารณา คือ การเปิดโอกาสให้มีการว่ากล่าวตักเตือนกันได้ต่อมาเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่อาจให้โอวาทพระสงฆ์ด้วย และตอนค่ำมีการจุดไต้ประทีป การไต้ประทีปมีทั้งใช้ยางบงซึ่งผสมในอ้มในเนียมเพื่อให้มีกลิ่นหอม โดยใช้ไม้ไผ่ที่เหล่าจุ่มยางบงหลาย ๆครั้ง ตากแดดให้แห้ง เวลาจุดใช้เสียบกับต้นกล้วย นอกนี้ใช้น้ำมันและน้ำมันพืช เช่น น้ำมันเมล็ดกระบก หมากเยา (สลอด) น้ำมันหมากแตก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันละหุ่งและน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ การจุดไต้ประทีปอาจใช้ไม้ไผ่ ลูกมะตูมกา ขวด กระป๋อง กะลามะพร้าวหรือสิ่งอื่น ๆ เอาไปแขวนไว้ตามต้นไม้หรือวางไว้ตามร้านที่ทำขึ้นตามกิ่งไม้ต้นไม้ รั้วหรือกำแพงรอบ ๆ บริเวณวัดประทีปที่จุดแล้วนี้จะทำให้แลดูสว่างไสวไปทั้งวัดสวยงามมาก และมีการจุดประทัดเสียงตูมตามด้วย



มูลเหตุที่จะมีบุญออกพรรษา
คงเนื่องจากพระภิกษุสามเณรได้มารวมกันอยู่ที่วัดใดหนึ่งโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งจะไปค้างคืนหรือจำที่วัดที่อื่นไม่ได้เป็นเวลาสามเดือนพอดี พระสงฆ์จึงได้ทำพิธีออกวัสสาปวารณาดังกล่าวทั้งภายหลังออกพรรษาแล้ว พระภิกษุสามเณรส่วนมากมักจะแยกกันไปในที่ต่าง ๆ ได้ตามใจชอบและพระภิกษุสามเณรบางรูปอาจลาสิกขาบท เมื่อถึงวันก่อนที่พระภิกษุสามเณรจะแยกย้ายกันไปเช่นนี้ ชาวบ้านจึงถือเป็นวันสำคัญถือโอกาสทำบุญถวายภัตตาหารและบริขารต่าง ๆ แด่พระภิกษุสามเณรที่วัดเป็นพิเศษ เพราะภายหลังวันออกพรรษาแล้วจะหาโอกาสที่พระภิกษุสามเณรอยู่พร้อมเพรียงกันเช่นนี้ยาก และในวันออกพรรษานี้ อากาศเริ่มสดชื่นเย็นสบายเนื่องจากฝนเริ่มตกน้อยลง อากาศก็จวนเริ่มเข้าฤดูหนาว การคราดไถนาตกกล้าหว่านดำนาของชาวบ้านก็เสร็จแล้ว ชาวบ้านจึงหมดภาระในการทำไร่ทำนาไปตอนหนึ่ง ทั้งข้าวกล้องในนากำลังเขียวชอุ่มและเริ่มออกรวง ประกอบกับอากาศแจ่มใส ทำให้ชาวบ้านรู้สึกมีความสุขสบายกายสบายใจ จึงถือโอกาสทำบุญในวันออกพรรษานี้โดยพร้อมเพรียงกัน



วันออกพรรษามักจะมีพิธีอื่น ๆ ประกอบอีก คือ
การถวายต้นดอกเผิ้งหรือปราสาทผึ้ง
มูลเหตุที่จะมีการถวายต้นดอกเผิ้ง มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาอยู่ป่ารักชิตวันมีช้างและลิงเป็นผู้อุปฐาก ช้างเป็นผู้มีหน้าที่ตักน้ำและต้มน้ำถวาย ส่วนลิงทำหน้าที่หาผลไม้ รวงผึ้งและน้ำผึ้งมาถวายรวงผึ้งที่คั้นเอาน้ำผึ้งถวายระพุทธเจ้าฉันแล้ว เหลือแต่ขี้ผึ้งมีผู้เห็นประโยชน์จึงนำไปทำเทียนมาถวายและได้ทำเป็นต้นตกแต่งประดับประดาให้สวยงามแล้วแห่ไปถวาย ซึ่งกลายเป็นต้นปราสาทผึ้ง การถวายต้นดอกเผิ้งหรือปราสาทผึ้งจึงเป็นประเพณีสืบต่อกันมาช้านานจนกระทั่งทุกวันนี้



การทำต้นดอกเผิ้งชาวบ้านเอาไม้ไผ่มาจักตอนสานและทำเป็นรูปปราสาท แล้วเอากาบกล้วยมาแทงหยวกเป็นลวดลายอย่างสวยงามปิดและมุง เอาขี้ผึ้งไปต้มให้เปื่อย เอาผลมะละกอดิบมาแกะสลัก ติดด้ามด้วยไม้ จุ่มลงในน้ำผึ้งแล้วจุ่มลงในน้ำเย็นทำเป็นรูปดอกไม้ซึ่งเรียกว่า "ดอกเผิ้ง" ตรงกลางมีขมิ้นทำเป็นเกสร เอาไม้มาเสียงเกสรติดกับดอกเผิ้ง แล้วเอาไปเสียบติดกันกาบกล้วยที่ต้นปราสาทจัดระยะถี่ห่างอย่างสวยงาม ข้างในหอปราสาทมีขนมข้าวต้ม กล้วยอ้อย เสื่อหมอน ฯลฯ ข้างนอกแขวนและประดับประดาด้วยผ้าแพร กระดาษดินสอ ไม้ขีด ฝ้ายไหม ฯลฯ พร้อมปัจจัย ตอนเย็นหรือค่ำก็แห่กันอย่างสนุกสนานครึกครื้นไปที่วัด เวียนรอบศาลาโรงธรรม 3 รอบ แล้วนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยและอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อทำพิธีถวายเสร็จแล้ว มีการฟังเทศน์ฉลองต้นเผิ้งและพระกล่าวคำอนุโมทนาให้พรเป็นเสร็จพิธี การทำต้นเผิ้งส่วนมากชาวบ้านรวมกันทำเป็นกลุ่ม ๆ แล้วแต่ศรัทธา วัดหนึ่ง ๆ มักมีการถวายต้นดอกเผิ้งจำนวนหลาย ๆ ต้น

คำถวายปราสาทผึ้ง
มะยัง ภันเต อิมัง สะปะริวารัง มะธุปุบผะปาสาทัง อิมัสมิง วิหาเร สังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต สังโฆ อิมัง สะปะริวารัง มะธุปุปผะปาสาทัง ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัญเจวะ มาตาปิตะอาทีนัง ญาตะกานัญจะกาละกะตานัง ทีฆะรัตตัง สุขายะ

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ปราสาทผึ้งกับทั้งบริวารนี้ แก่พระสงฆ์ในวิหารนี้ ขอพระสงฆ์จงให้โอกาสรับปราสาทผึ้ง กับทั้งบริวารนี้ เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย และญาติทั้งหลาย มีมารดาบิดาเป็นต้น ผู้ล่วงลับไปแล้ว ตลอดกาลนานเทอญ



การล่องเฮือไฟ
คือ เรื่อหรือแพที่ทำด้วยห่อนกล้วยหรือไม้ไผ่ ยาวประมาณ 3-4 เมตรหรือยาวกว่านี้ ทำร้านหรือราวขึ้นสำหรับจุดไต้และเสียบธูปเทียน เฮือไฟอาจยกโครงขึ้นเป็นรูปต่าง ๆ ได้แก่ รูปสัตว์ เช่น ช้าง ม้า จระเข้ พญานาค ฯลฯ หรือรูปปราสาท บ้านเรือนเป็นต้น และตกแต่งอย่างสวยงาม

มูลเหตุที่มีการล่องเฮือไฟ จุดประสงค์เพื่อเป็นการบูชาและคารวะแม่คงคา และสักการะพระพุทธบาทนัมทานที แล้วน้อมจิตอธิษฐานขอให้ผู้บูชาประสบแต่ความสุข ความเจริญยิ่งขึ้นไป

พิธีจัดทำ พอถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด หรือแรม 1 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด ชาวบ้านและพระภิกษุสามเณรช่วยกันทำเฮือไฟลอยไว้ริมน้ำ ถึงตอนใกล้เที่ยงถวายภัตตาหารเพลที่ท่าน้ำหรือถวายที่วัดก็ได้ ตอนบ่ายมีการเล่นฟ้อนรำฉลองเฮือไฟ ตอนเย็นมีการฟังพระสวดมนต์และฟังเทศน์ที่วัด พอค่ำชาวบ้านนำเครื่องบริขารต่าง ๆ เช่น ขนม ข้าวต้ม กล้วย อ้อย หมากพลูบุหรี่ ฯลฯ ใส่กระตาดหรือกระทงบรรจุไว้ในเฮือไฟ แต่บางแห่งคงมีแต่ดอกไม้ธูปเทียนเท่านั้นไปวางไว้ที่เฮือไฟ ครั้งได้เวลา คือ ประมาณ 1ถึง 2 ทุ่ม ก็จุดได้ หรือคบเพลิง ซึ่งประดับไว้ในเฮืดไฟให้สว่าง ชาวบ้านจุดธูปเทียนเป็นพุทธบูชาและคารวะแม่คงคา อธิษฐานให้มีความสุขความเจริญเสร็จแล้ว นำดอกไม้ธูปเทียนไปวางหรือปักไว้ในเฮือไฟแล้ว จึงปล่อยเฮือไฟออกจากฝั่ง ลอยไปตามลำแม่น้ำแลดูสว่างไสวและเป็นทิวแถวสวยงามมาก

 

การส่วงเฮือ
การส่วงเฮือ หมายถึง การนำเรือมาแข่งกันด้วยฝีพาย ชาวอีสานจะกำหนดแข่งเรือกันในวันใดวันหนึ่ง ระหว่างเดือนสืบถึงเดือนสิบสอง ระหว่างเข้าพรรษาหรือภายหลังนั้นเล็กน้อย เช่น ในวันทำบุญข้าวสาก บางแห่งนิยมจัดแข่งขันกัน ในวันออกพรรษาและยึดเวลาไปถึงเดือนสิบสองก็มี เรือที่แข่งคือ เรือขุดบรรจุคนได้ตั้งแต่ 20 คน ถึง 150 คน วัดใดหรือหมู่บ้านใดที่อยู่ใกล้แม่น้ำ หรือลำคลองมักมีเรือแข่งไว้เป็นประจำเมื่อถึงวันแข่งชาวบ้านจะประกาศหรือนัดให้คนหมู่บ้านอื่นที่มีเรือแข่งมาก "ส่วงเฮือ" กันเป็นประเพณีที่ทำให้ผู้มาร่วมงานสนุกสนาน ได้มีโอกาสพบปะวิสาสะกัน จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำโขง เช่นหนองคาย นครพนม อุบลราชธานี และจังหวัดเลย (เฉพาะอำเภอเชียงคาน) มักจัดประเพณีส่วงเฮืดกันทุกไปและจัดทำใหญ่โตมีการแข่งขันกัน



เรื่องเล่า
ในสมัยหนึ่ง ภิกษุชาวเมืองโกสัมพี เกิดวิวาทกัน พระพุทธเจ้าเสด็จไปตักเตือนห้ามปราม แต่ก็ยังไม่เชื่อฟัง พระองค์จึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่ในป่า "รักขิตวัน" โดยมีช้างและลิงเป็นพุทธอุปัฎฐาก ในขณะที่จำพรรษาในป่ารักขิตวันนั้น ช้างได้ตักน้ำ และต้มน้ำร้อนถวาย ฝ่ายลิงหารวงผึ้งและน้ำผึ้ง ตลอดทั้งผลไม้ในป่ามาถวาย จนกระทั่งออกพรรษา ภิกษุชาวเมืองโกสัมพีเกิดสำนึกได้ถึงโทษของการวิวาท จึงไปกราบทูลอารธนาให้พระพุทธเจ้าเสด็จกลับ

ในระหว่างที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาอยู่นั้น วันหนึ่ง ลิงเกิดความลิงโลดดีใจที่พระพุทธเจ้ารับประเคนรังผึ้ง เกิดปีติดีใจอยู่ไม่เป็นสุขตามประสาลิง กระโดดโลดเต้นจากกิ่งไม้ไปทั่วราวป่า เกิดพลาดไปจับได้กิ่งไม้ผุ กิ่งไม้หักตกลงมาทับลิงตายในขณะที่กำลังดีใจที่ได้ทำบุญ จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์

คำถวายผ้าจำนำพรรษา
อิมานิ มะยังภันเต วัสสาวาสิกานิ สังฆัสสะ โอโรฃณชะยามะ สาธุโน ภันเต สังโฆ อิมานิ วัสสาวาสิกานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ

คำแปล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจำพรรษาเหล่านี้ แก่พระสงฆ์ แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์ให้โอกาสรับผ้าจำนำพรรษาเหล่านี้ เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ





ขอบคุณ ข้อมูล และ รูปภาพจาก
 

Share this article :

แสดงความคิดเห็น

 
Support : Creating Website | Johny Template | Mas Template
Copyright © 2012 - 3012. GuidePhibun ไกด์ พิบูลมังสาหาร - All Rights Reserved
Template Created by Creating Website Published by Mas Template
Proudly powered by Blogger