Home » , , , » ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ เดือนห้า-บุญสงกรานต์

ฮีตสิบสอง คลองสิบสี่ เดือนห้า-บุญสงกรานต์

Written By SongStoryz on วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555 | 02:42


บุญสงกรานต์หรือตรุษสงกรานต์ของภาคอีสานกำหนดทำกันในเดือนห้า ปรกติมี 3 วัน โดยเริ่มแต่วันที่ 13 เมษายน ถึงวันที่ 15 เมษายนเหมือนกับภาคกลาง วันที่ 13 เมษายน เป็นวันต้น คือ วันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน คือวันกลางเป็นวันเนา และวันที่ 15 เมษายน คือวันสุดท้าย เป็นวันเถลิงศก ชาวอีสานถือเป็นวันขึ้นปีใหม่

คำว่า สงกรานต์ เป็นคำสันสกฤต แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไป ในที่นี้หมายถึง พระอาทิตย์ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในจักรราศรีหนึ่งเป็นเดือนที่เริ่มต้นปีใหม่ การทำบุญสงกรานต์จะมีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ นอกจากนี้ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตรก่อพระเจดีย์ทรายและมีการละเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานนานตลอดทั้ง 3 วัน

ประเพณีในการทำบุญอีกอย่างหนึ่งเทศกาลนี้ คือ การปล่อยสัตว์ เช่น นก ปู ปลา หอย เต่า การสรงน้ำพระพุทธรูป ที่สำหรับสรงน้ำพระพุทธรูปมักเป็นที่ใดที่หนึ่ง ที่เห็นว่าเหมาะสม ซึ่งตามปรกติมักใช้ศาลาการเปรียญ บางวัดก็จัดสร้างหอสรงขึ้นแล้วอันเชิญพระพุทธรูปในประดิษฐานไว้ เพื่อทำการสรงในวันสงกรานต์


การทำบุญในเดือนห้า ซึ่งชาวอีสานในอดีตถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อสมัยก่อนชาวอีสานก็ถือเอาเดือนอ้ายเป็นเดือนแรกของปีเช่นเดียวกับชาวล้านช้างทั่วไป ต่อมาได้รับเอาอิทธิพลวัฒนธรรมชาวมอญ ชาวเขมร จึงเปลี่ยนมาเป็น เดือน ๕ วันขึ้นปีใหม่่จริงๆ ของชาวลาวจะอยู่ระหว่างเดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ ไปถึงเดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ จะตกอยู่วันใดวันหนึ่งในช่วงนี้โดยถือเอาการคำนวณจากอินเดียที่ยึดถือเอาความสั้นยาวของ กลางวัน กลางคืน ชาวอีสานเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง จึงถือเอาเดือน๕ เป็นปีใหม่

  


นอกจากนี้จะนำน้ำอบน้ำหอมไปสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัด ทางวัดจะจัดสถานที่อัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ให้ประชาชนมาสรงน้ำพระพุทธรูป และตามบ้านเรือนต่าง ๆ ก็จะทำพิธีนำพระพุทธรูปลงมาตลอดทั้งเครื่องลางของขลังและวัตถุมงคลต่างๆ มาสรงน้ำเหมือนกัน และเอาไว้นานถึง ๓ วันเต็ม คือ อัญเชิญพระลงมาบ่ายวันที่ ๑๓ และอัญเชิญขึ้นของบ่ายวนที่๑๖ จะนำขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่เดิม แต่ประชาชนจะเล่นสงกรานต์ต่อได้


การก่อเจดีย์ทรายนั้น มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปถึงหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำใกล้เมืองพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นทรายขาวบริสุทธิ์ผุดผ่อง และมีจิตใจเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงได้กวาดเอาทรายมากองบูชาพระรัตนตรัยนับได้ ๘๔,๐๐๐ กอง เท่ากับจำนวนที่เกี่ยวกับหมวดธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ตลอดช่วงที่บำเพ็ญพุทธกิจ๔๕ พรรษา ครั้นแล้วจึงได้เสด็จไปทูลถาม พระพุทธเจ้าถึงอานิสงฆ์ของการก่อเจดีญ์ทรายถึง ๘๔,๐๐๐ องค์ หรือเจดีย์ทรายเพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก คือจะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเกิดเป็นมนุษย์สมบัติเพรียบพร้อมไปด้วยยศศักดี์บริวาร มีเกียจชื่อเสียงขจรไปทั่วทิศานุทิศ ครั้นตายไปจะประสบสวรรค์สมบัติมีนางฟ้าเป็นบริวาร โดยอาศัยเหตุที่การก่อเจดีย์ทรายมีอานิสงส์มาก คนอิสานโบรานจึงนิยมก่อพระทราย หรือเจดีย์ทรายเป็นประเพณีจนทุกวันนี้

เรื่องเล่า..การทำบุญสงกรานต์
มีเรื่องเล่าว่า เศรษฐีผู้หนึ่งอยู่กินกับภรรยามานานแต่ไม่มีบุตรเศรษฐีผู้นั้นบ้านอยู่ใกล้กับบ้านนักเลงสุรา นักเลงสุรามีบุตรสองคน ผิวเนื้อเหมือนทอง วันหนึ่งนักเลงสุราไปกล่าวคำหยาบช้าต่อเศรษฐี เศรษฐีจึงถามว่าเหตุใดจึงมาหมิ่นประมาทตนผู้มีสมบัติมาก นักเลงสุราจึงตอบว่าถึงท่านมีสมบัติมากก็ไม่มีบุตร ตายแล้วสมบัติจะสูญเปล่า เรามีบุตรเห็นว่าประเสริฐกว่าท่านเศรษฐีได้ยินดังนั้น มีความละอายจึงทำการบวงสรวง ตั้งอธิษฐานขอบุตรต่อพระอาทิตย์และพระจันทร์ถึงสามปี แต่ไม่เป็นผลจึงไปขอบุตรต่อต้นไทร

เทวดาซึ่งสิงสถิตย์อยู่ที่ต้นไทรสงสารได้ไปอ้อนวอนขอบุตรต่อพระอินทร์ให้เศรษฐี พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตรลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อประสูตแล้วเศรษฐีให้ชื่อว่า ธรรมบาล ตามนามของเทวบุตร และปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ที่ใต้ต้นไทรนั้น ธรรมบาลเป็นเด็กฉลาด โตขึ้นอายุเพียง ๆ ขวบก็สามารถเรียนจบรู้ภาษานกและมีความเฉลียวฉลาดมาก ต่อมา กบิลพรหม จากพรหมโลกได้ลงมาถามปัญหาสามข้อกับธรรมบาล ปัญหามีว่า

คนเราในวันหนึ่ง ๆ เวลาเช้าศรีอยู่ที่ไหน เวลาเทียงศรีอยู่ที่ไหน และเวลาเย็นศรีอยู่ที่ไหน โดยสัญญาว่า ถ้าธรรมบาลแก้ได้ กบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนบูชา แต่ถ้าธรรมบาลแก้ไม่ได้จะต้องตัดศีรษะธรรมบาลเสีย โดยผัดให้เจ็ดวันคราวแรกธรรมบาลนึกตอบปัญหานี้ไม่ได้

พอถึงวันถ้วนหกพอดีไปแอบได้ยิน นกอินทรี ผู้ผัวพูดคำตอบให้นกอินทรีผู้เป็นเมียฟังบนต้นตาธรรมบาลถึง สามารถแก้ปัญหาได้ คำตอบคือเวลาเช้าศรีอยู่ที่หน้าคนถึงเอาน้ำล้างในตอนเช้า เวลากลางวันศรีอยู่ที่อกคนถึงเอาเครื่องหอมประพรมที่หน้าอกในเวลากลางวันและเวลาเย็นศรีอยู่ที่เท้า คนจึงเอาน้ำล้างเท้าในเวลาเย็น เมื่อถึงวันถ้วนเจ็ดท้าวกบิลพรหมได้มาทวงถามปัญหาธรรบาล เมื่อธรรมบาลตอบได้ (ตามที่ยินนกพูดกัน) กบิลพรหมจึงตัดศีรษะของตนบูชาธรรมบาลตามสัญญาแต่เนื่องจากศีรษะของกบิลพรหมศักดิ์สิทธิ์ ถ้าตกลงแผ่นดินจะเกิดไฟไหม้ ถ้าทิ้งไปในอากาศจะทำให้เกิดฝนแล้งและถ้าทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง

ดังนั้นเมื่อกบิลพรหมจะตัดศีรษะของตน ถึงได้ให้ ธิดาทั้งเจ็ด เอา พานมารองรับศีรษะ ของตนไว้ โดยตัดศีรษะส่งให้ นางทุงษ ผู้ธิดา คนใหญ่ แล้วธิดาทั้งเจ็ดจึงแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุเป็นเวลา 60 นาที จึงนำไปประดิษฐานไว้ที่มณฑปในถ้ำคันธุลีเขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์พระเวสสุกรรมก็เนรมิตโรงแล้วด้วยแก้วเจ็ดประการ ให้เป็นที่ประชุมเทวดาพอครบหนึ่งปีธีดาทั้งเจ็ดจะผลัดเปลี่ยนกันมาอัญเชิญเอาศีรษะของกบิลพรหมแห่พระทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ (ธิดาทั้งเจ็ดของกบิลพรหมมีชื่อ
ดังนี้ คือ ทุงษ โคราด รากษส มัณฑา กิรินี กิมิทา และมโหทร ) พิธีแห่เศียรของกบิลพรหมนี้ทำให้เกิดพิธีตรุษสงกรานต์ขึ้นทุก ๆ ปี และถือเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของชาวไทยโบราณต่อๆ กันมาด้วย

นางสงกรานต์
นางสงกรานต์ได้แก่ ผู้ทำหน้าที่อันเชิญเอาศีรษะของท้าวกบิลพรหมมาแห่ในวันสงกรานต์ เป็นนางฟ้าบนสวรรค์ขึ้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นต่ำที่สุด มีด้วยกัน 7 คน เป็นพี่น้องกันทั้งหมด และเป็นธิดาของท้าวกบิพรหมหรือมหาสงกรานต์ดังกล่าวข้างต้น การที่ธิดาคนใดจะเป็นนางสงกรานต์ เช่น พ.ศ. 2527 วันที่ 13 เมษายนตรงกับวันศุกร์ นางสงกรานต์จึงมีนามว่า กิมิทาเป็นต้น นางทั้ง 7 มีชื่อ วัน ดอกไม้ เครื่องประดับ อาหาร อาวุธ และสัตว์เป็นพาหนะ ดังนี้

1. ทุงษ วัน อาทิตย์
ดอกไม้ ดอกทับทิม
เครื่องประดับ ปัทมราด
อาหาร อุทุมพร
อาวุธ จักร - สังข์
พาหนะ ครุฑ

2. โคราด วัน จันทร์
ดอกไม้ ดอกปีบ
เครื่องประดับ มุกดาหาร
อาหาร น้ำมัน
อาวุธ พระขรรค์ - ไม้เท้า
พาหนะ พยัคฆ์ (เสือโคร่ง)

3. รากษส วัน อังคาร
ดอกไม้ ดอกบัวหลวง
เครื่องประดับ โมรา
อาหาร โลหิต
อาวุธ ตรีศูล - ธนู
พาหนะ วราหะ (หมู)

4. มัณฑา วัน พุธ
ดอกไม้ ดอกจำปา
เครื่องประดับ ไพฑูรย์
อาหาร นมเนย
อาวุธ ไม้เท้า - เหล็กแหลม
พาหนะ คัสพะ (ลา)

5. กิรินี วัน พฤหัสบดี
ดอกไม้ ดอกมณฑา
เครื่องประดับ มรกต
อาหาร ถั่วงา
อาวุธ ขอ -ปืน
พาหนะ กุญชร (ช้าง)

6. กิมิทา วัน ศุกร์
ดอกไม้ ดอกจงกลณี
เครื่องประดับ บุษราคัม
อาหาร กล้วยน้ำ
อาวุธ พระขรรค์ - พิณ
พาหนะ มหิงสา (ควาย)


7. มโหทร วัน เสาร์
ดอกไม้ ดอกสามหาว
เครื่องประดับ นิลรัตน์
อาหาร เนื้อทราย
อาวุธ จักร - ตรีศูล
พาหนะ นกยูง



บางแห่งมีการทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ ชาวบ้านพากันขนทรายมาก่อเจดีย์ทราย นิยมจัดทำที่วัดโดยชาวบ้านพากันขนทรายจากท่าน้ำมาก่อเป็นเจดีย์ทรายที่วัดรวมกันเป็นกองใหญ่ การก่อเจดีย์จัดทำโดยเอาทรายผสมน้ำพอซุ่มแล้วนำมารวมก่อเป็นกองใหญ่ ทำเป็นรูปเรียวสูงคล้ายปิรมิด ตกแต่งให้สวยงามดีแล้ว ตรงยอดเจดีย์เอาไม้แก่นแข็งทำเป็นหยักและเสี้ยมปลายแหลมพร้อมทาสีให้สวยงาม มาเสียบไว้พร้อมดอกไม้และเทียน นอกจากนี้บางทียังเอาขันขนาดเล็กใส่ทรายซึ่งผสมน้ำพอหมาดให้เต็มดีแล้วตีคว่ำลงกับพื้นดินรอบเจดีย์ทรายองค์ใหญ่ คนหนึ่งทำจำนวนให้เกินอายุของตนไว้ 1 ขัน ซึ่งมีความหมายขอให้อายุยืนยาวต่อไป



การทำบุญตรุษสงกรานต์หรือบุญเดือนห้า ซึ่งพิธีการทำบุญตรุษสงกรานต์ นอกจากจะมีการสรงน้ำพระ
แล้ว ยังมีการสรงน้ำหรือรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เป็นเจ้าบ้านเจ้าเมือง ผู้ที่เป็นผู้ที่สูงชาติกำเนิด ผู้ที่มีอุปการณ เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการรดน้ำดำหัวเพื่อขอพรให้ลูกหลานได้อยู่ชุ่มกินเย็น นอกจากการสรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่แล้ว ยังมีการสรงน้ำเครื่องค้ำของคูณต่าง ๆ เช่น คุด เขา นอ งาแข้วหมูตัน จันทคาด เป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องค้ำของคูณเหล่านี้ถ้ามีอยู่บ้านใดเรือนใด จะทำให้เจ้าของนั้นเรีอนอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวของเงินทอง ในเทศกาลเช่นนี้ให้นำเอาเครื่องค้ำของคูณเหล่านั้นออกมาสรง จะทำให้ผู้ที่่เป็นเจ้าของมีความสุขความเจริญสมบูรณ์บริบูรณ์ด้วยข้าวของเงินทอง




ขอบคุณ ข้อมูล และ รูปภาพจาก
 
Share this article :

แสดงความคิดเห็น

 
Support : Creating Website | Johny Template | Mas Template
Copyright © 2012 - 3012. GuidePhibun ไกด์ พิบูลมังสาหาร - All Rights Reserved
Template Created by Creating Website Published by Mas Template
Proudly powered by Blogger